มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพงานประปาไทยในประชาคมอาเซียน
pdf

วัตถุประสงค์

ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพงานประปาไทยในประชาคมอาเซียน

เนื้อหา

มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพงานประปาไทยในประชาคมอาเซียน

 

ว่าที่ร้อยเอก ดร.คมกริช เวชสัสถ์ (1) : a@mwa.co.th

นางสาวธรรศมพร เทียมภักดี (2) : thatsamaporn@mwa.co.th

(1) ผู้ช่วยเลขานุการ  (2) เลขานุการ คณะทำงานด้านการจัดการสถาบันสอนเกี่ยวกับกิจการประปา การประปานครหลวง

10 กันยายน 2558

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มประเทศซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป ได้มีการพัฒนารวมตัวตามลำดับจาก ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (ECSC) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2494 และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2501 จนกระทั่งภายใต้สนธิสัญญามาสทริชท์ได้สถาปนา “สหภาพยุโรป” (European Union - EU) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 และมีการแก้ไขหลักพื้นฐานรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปในสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งมีผลใช้บังคับ พ.ศ. 2552 (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2558a)

การรวมตัวของสหภาพยุโรปทำให้เกิดความได้เปรียบอย่างมากในแง่ของการเจรจาต่อรองกับนานาประเทศ ซึ่งดำเนินการผ่านระบบองค์การอิสระเหนือชาติและการตัดสินใจที่เจรจาระหว่างรัฐบาลโดยรัฐสมาชิกประกอบด้วยรัฐสมาชิก 28 ประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศสมาชิกได้อย่างอิสระ สหภาพยุโรป จึงเป็นแบบอย่างในการรวมตัวของกลุ่มประเทศต่างๆ

การรวมตัวของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสมาคมอาสา  (Association of South East Asia - ASA) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2504 จากนั้นภายใต้ปฏิญญากรุงเทพ พ.ศ. 2510 ได้สถาปนา “อาเซียน” (Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) ต่อมาภายใต้การลงนามในกฎบัตรอาเซียน พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้อาเซียนมีสถานะคล้ายกับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ เริ่มประกาศใช้เขตการค้าเสรีอาเซียน พ.ศ. 2553 และกำลังก้าวสู่ความเป็น “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) ซึ่งจะประกอบด้วยสามด้าน คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ร่นระยะเวลาให้สำเร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 (จากเดิมกำหนดไว้ภายในปี พ.ศ.2563) ของกลุ่มประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สหพันธรัฐมาเลเซีย  ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2558b)

โดยเฉพาะด้าน “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community - AEC ) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้อาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีการกำหนดกลไกและมาตรการใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว เร่งรัดการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในสาขาที่มีความสำคัญลำดับแรก อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคล แรงงานฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกต่างๆ ในอาเซียน การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน มี 5 องค์ประกอบหลัก คือ (1) การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี (2) การเคลื่อนย้ายบริการเสรี (3) การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี (4) การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี และ (5) การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี (Association of Southeast Asian Nations, 2007)

การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี ของประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะเริ่มแรกจะประกอบด้วย 8 สาขาอาชีพ คือ วิศวกร นักสำรวจ สถาปนิก แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี และวิชาชีพด้านการโรงแรมและการท่อเที่ยว อีกทั้งกรอบการตกลงการค้าของอาเซียน (AFAS) ได้กำหนดไว้ในมาตร 5 ว่า “สมาชิกในอาเซียนแต่ละประเทศจะให้การยอมรับในคุณวุฒิการศึกษาหรือประสบการณ์ที่ได้รับ และคุณสมบัติที่เป็นไปตามข้อกำหนด หรือใบอนุญาต หรือใบรับรองที่ได้รับในประเทศสมาชิก เพื่อวัตถุประสงค์ในการออกใบอนุญาต หรือใบรับรองให้แก่ผู้ให้บริการ การยอมรับดังกล่าวจะต้องทำอยู่บนพื้นฐานของความตกลงกับประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้อง หรืออาจให้การยอมรับโดยอิสระ”

ประเทศไทยได้ตระหนักว่าในอนาคตจะมีการขยายฐานการเคลื่อย้ายแรงงานฝีมือเสรี ไม่ใช่เฉพาะเพียง 8 สาขาอาชีพเท่านั้น จึงได้มีการเตรียมพร้อมในการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี ทางด้านคุณวุฒิวิชาชีพระดับต่างๆ ให้เป็นมาตรฐาน ในการบ่งชี้สมรรถนะของกำลังคนของไทย ตลอดจนส่งเสริมกลุ่มอาชีพให้มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างมาตรฐานอาชีพขึ้นได้เอง เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนากำลังคนระดับต่างๆ ให้สามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบอาชีพในฐานะเป็นอุปสงค์ของระบบ (Demand Driven)

คุณวุฒิวิชาชีพ จึงเป็นเรื่องใหม่ในการปฏิรูปมาตรฐานอาชีพไทย รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552 - 2561) ด้วย อันจะเกิดผลให้ผู้ที่ประกอบอาชีพแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญสามารถนำประสบการณ์ในการประกอบอาชีพมาเทียบกับคุณวุฒิการศึกษา เพื่อให้ผู้ที่ประกอบอาชีพได้รับค่าจ้าง หรือเงินเดือนในอัตราที่สูงขึ้นได้ และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่ประกอบอาชีพที่ไม่มีการพัฒนาคุณวุฒิการศึกษา ให้มีสมรรถนะส่วนบุคคลที่วัดได้อย่างเป็นมาตรฐานอาชีพ เป็นระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ภารกิจของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (Thailand Professional Qualification Institute (Public Organization)) ที่ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2554 กำกับดูแลมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพไทยให้เป็นเอกภาพ โดยพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 ระบุไว้ในมาตรา 7 กำหนดวัตถุประสงค์ ดังนี้

(1)  ดําเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ

(2)  ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิชาชีพในการจัดทํามาตรฐานอาชีพ

(3)  ให้การรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ

(4)  เป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ

(5)  ติดตามและประเมินผลองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพรวมทั้งระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อให้การดําเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม

(6)  ส่งเสริม สนับสนุน  และประสานความร่วมมือกับสถานศึกษา  ศูนย์หรือสถาบันฝึกอบรมสถานประกอบการ  หน่วยงานของรัฐ  และองค์กรเอกชนในการเผยแพร่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ

ในมาตรา 8 (7) ได้ระบุให้ สคช. มีอำนาจให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ และหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ และมาตรา 18 (4) ให้การรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพได้ โดยความเห็นชอบ หรืออนุมัติของคณะกรรมการ สคช. แล้วแต่กรณี

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (2557) จึงมีหน้าที่ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบอาชีพ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการศึกษา เพื่อให้กลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการระบุ “สมรรถนะ” ที่จำเป็นในการทำงานแต่ละอาชีพ และนำไปกำหนดระดับการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือที่เรียกว่า “มาตรฐานอาชีพ” ในสาขาอาชีพนั้นๆ ซึ่ง มาตรฐานอาชีพที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจัดทำขึ้นจะได้รับการต่อยอด และนำไปปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษา และระดับอื่นที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อให้นักศึกษามีทักษะพร้อมสำหรับการทำงานจริง อีกทั้ง ผู้ประกอบอาชีพยังสามารถเข้ารับการทดสอบสมรรถนะ ตามมาตรฐานอาชีพได้ที่ศูนย์ทดสอบที่ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพรับรอง เพื่อที่จะได้รับประกาศนียบัตร "คุณวุฒิวิชาชีพ" ซึ่งก็คือการรับรองความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำงานตามมาตรฐานอาชีพ อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ตามประกาศคณะกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เรื่อง การกําหนดสาขาวิชาชีพที่ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ. 2557

นอกจากนั้น ในข้อบังคับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้คุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ. 2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พบว่า ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ จะเน้นไปที่ สมรรถนะ มาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะแบ่งออกเป็น 7 ระดับ ตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ (Thailand Professional Qualification Framework – TPQF) เพื่อนำไปพัฒนาปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะในระบบการศึกษาที่แบ่งออกเป็น 9 ระดับ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (Nation Qualifications Framework – NQF) และสามารถเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอาเซียนที่แบ่งออกเป็น 8 ระดับ (ASEAN Qualifications Reference Framework - AQRF) เพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 และเทียบเคียงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่แบ่งออกโดยทั่วไปเป็น 3 ระดับ (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 2555; สำนักงานเลขาธิการการสภาการศึกษา, 2558a) ดังแสดงความเชื่อมโยงเทียบเคียงกันในรูปที่ 1 ซึ่งแนวคิดของการกำหนดระดับคุณวุฒิวิชาชีพจะกำหนดให้ระดับเริ่มต้นเป็นงานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ขอบเขตงานแคบ และความรับผิดชอบต่ำ ส่วนระดับคุณวุฒิวิชาชีพที่สูงขึ้นจะเป็นงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีขอบเขตงานกว้าง และความรับผิดชอบสูงขึ้น

คุณวุฒิวิชาชีพ จึงเป็นกลไกเชื่อมโยงหนึ่งในการเติมเต็มประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อยกระดับคุณวุฒิการศึกษา (Credit Bank) โดยถูกกำหนดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 และเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ในการเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ โดยขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาระบบทดสอบวัดประเมินผล และการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถให้แก่สถาบันการศึกษา (สำนักงานเลขาธิการการสภาการศึกษา, 2558b)

 

รูปที่ 1 การเทียบเคียงความเชื่อมโยงระหว่างกรอบคุณวุฒิอาเซียน คุณวุฒิแห่งชาติ คุณวุฒิวิชาชีพ

มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และคุณวุฒิการศึกษา

 

 

การประปานครหลวง ได้ตระหนักถึงการเรียนรู้และพัฒนาองค์กร (Learning and Growth Strategic) เพื่อยกระดับการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถองค์กร และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงได้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาวิชาการประปา (Metropolitan Waterworks Institute of Thailand – MWAIT) ขึ้นในปี พ.ศ.2558 โดยแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ว่าการ (พัฒนาวิชาการประปา) ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสถาบันกำกับดูแลหน่วยงานระดับฝ่ายจำนวน 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย ฝ่ายพัฒนาวิชาการประปา และฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล และได้มีการกำหนดยุทธศาสตรของสถาบันพัฒนาวิชาการประปาในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาหลักสูตรวิชาการประปา และการสรางมูลคาเพิ่มใหกับองคกร กลยุทธที่ 3.2 เกี่ยวกับการสรางมาตรฐานวิชาชีพงานประปา และกลยุทธที่ 3.3 การสรางมูลค่าเพิ่มใหกับองคกร

คณะกรรมการกำกับดูแลงานพัฒนาทรัพยากรบุคลากร ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 และคณะทำงานด้านการจัดการสถาบันสอนเกี่ยวกับกิจการประปา ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ได้มีมติให้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างการประปานครหลวง กับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพงานประปา และนำเอามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพไปปรับใช้การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสมรรถนะ รวมทั้ง ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาองค์กรรับรองสมรรถนะบุคคลตามเกณฑ์มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพงานประปา มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม

โดยในวันที่ 3 สิงหาคม 2558 การประปานครหลวงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการระหว่างนายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง กับนายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (รูปที่ 2) ซึ่งในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้กำหนดให้มีกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการที่สำคัญประกอบด้วย

(1) การพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพงานประปา

(2) สถาบันพัฒนาวิชาการประปา ทำหน้าที่เป็นทั้งฝ่ายรับรองมาตรฐานฯ (ฝ่ายพัฒนาวิชาการประปา) และฝ่ายฝึกอบรม (ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล) ซึ่งต้องแยกหน้าที่อิสระจากกันตามข้อบังคับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกหนังสือรับรองแก่องค์กรที่มีหน้าที่รับรอง พ.ศ. 2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และตามมาตรฐาน ISO 17024

กล่าวโดยสรุป การประปานครหลวง จึงเป็นองค์กรริเริ่มแห่งแรกในประเทศไทยและในประชาคมอาเซียนในการกำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ “งานประปา” (ASEAN Waterworks) ด้วยความพร้อมในศักยภาพของสถาบันพัฒนาวิชาการประปา และความหลากหลายในอาชีพงานประปาตั้งแต่งานสำรวจ งานก่อสร้าง และงานบริการในระบบน้ำดิบ ระบบผลิตน้ำ ระบบส่งและจ่ายน้ำ และงานบริการลูกค้าหลังการขายสำหรับงานประปา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับทักษะฝีมือและประสบการณ์ของพนักงานและลูกจ้างในระดับฝีมือแรงงานสามารถพัฒนาตนเองให้มีความสามารถทางคุณวุฒิวิชาชีพในระดับสูงขึ้น และระดับผู้ชำนาญการในอาชีพสามารถยกระดับเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ จากการสะสมประสบการณ์การในการทำงาน และนำมาเทียบเคียงหรือยกระดับคุณวุฒิการศึกษาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพนักงานและลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้าง หรือเงินเดือนในอัตราที่สูงขึ้น และจะส่งผลต่อการประปานครหลวง ให้สามารถบริการลูกค้าและประชาชนที่เป็นเลิศ สร้างความผูกพันของพนักงานและลูกจ้างในองค์กร และสร้างมูลค่าเพิ่มใหกับองคกรได้อย่างยั่งยืน

 

รูปที่ 2 พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กับ การประปานครหลวง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558

 

อ้างอิง

Association of Southeast Asian Nations, 2007, ASEAN Economic Blueprint [online: www.aseansec.org]

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กลุ่มงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและวิชาชีพควบคุม, 2555, เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตร ผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 1, 21 หน้า

ข้อบังคับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้คุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ. 2557 [online: http://www.tpqi.go.th/regulations.php]

ข้อบังคับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้คุณวุฒิวิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 [online: http://www.tpqi.go.th/regulations.php]

ข้อบังคับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้คุณวุฒิวิชาชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 [online: http://www.tpqi.go.th/regulations.php]

ข้อบังคับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกหนังสือรับรอง แก่องค์กรที่มีหน้าที่รับรอง พ.ศ. 2557 พ.ศ.2557 [online: http://www.tpqi.go.th/regulations.php]

ข้อบังคับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกหนังสือรับรอง แก่องค์กรที่มีหน้าที่รับรอง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 [online: http://www.tpqi.go.th/regulations.php]

ประกาศคณะกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เรื่อง การกําหนดสาขาวิชาชีพที่ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ. 2557 [online: http://www.tpqi.go.th/regulations.php]

พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 (30 มีนาคม 2554), ราชกิจานุเบกษา เล่มที่ 128 ตอนที่ 21 ก หน้า 5-22

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2558a, สหภาพยุโรป, [oneline: https://th.wikipedia.org]

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2558b, สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, [oneline: https://th.wikipedia.org]

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), 2557, รายงานผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557, 22 หน้า

สำนักงานเลขาธิการการสภาการศึกษา, 2558a, การพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สู่กรอบประชาคมอาเซียน, 87 หน้า

สำนักงานเลขาธิการการสภาการศึกษา, 2558b, แผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฎิบัติ, 50 หน้า